ดอยปุย เป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศ มีลักษณะของพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนอยู่ในแนวเทือกเขาถนนธงไชย
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอรอบ ๆ สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่จะหนาวเย็นและชุ่มชื้น เนื่องจากได้รับไอน้ำจากเมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่อยู่ระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส
ยอดดอยปุย
ยอดดอยปุย สูง 1,658 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นจุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี บนยอดดอยปกคลุมด้วยป่าสนเขาผืนใหญ่ และเป็นแหล่งดูนกที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง
ดอยสุเทพและดอยปุยเป็นถิ่นอาศัยของนกมากกว่า 300 ชนิด เช่น ไก่ฟ้าหลังขาว นกกางเขนน้ำหลังดำ นกศิวะปีกสีฟ้า ฯลฯ ในช่วงฤดูหนาวยังมีนกอพยพบินย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอีกเป็นจำนวนมาก หลายชนิดเป็นนกหายาก โดยเฉพาะ นกเขน นกจับแมลงสีคราม นกเดินดงอกลาย นกปีกแพรสีม่วง ฯลฯ
ใกล้กับยอดดอยปุยมีสถานที่สำหรับกางเต็นท์ ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 250 คน ซึ่งห่างจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ประมาณ 7 ก.ม. เส้นทางค่อนข้างแคบและลาดชัน สำหรับผู้ที่ไม่ชินเส้นทาง ควรเดินทางไปถึงก่อนเวลา 17.00 น. เพื่อความสะดวกและปลอดภัย
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านความสวยงาม และมีความสำคัญยิ่ง คือ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
บริเวณใกล้ดอยบวกห้า คำว่า “ดอยบวกห้า” เป็นชื่อเรียกตามคำพื้นเมือง ดอยหมายถึงภูเขา บวกหมายถึง หนองน้ำ ห้าหมายถึงต้นหว้า หมายความว่า ที่ยอดดอยแห่งนี้มีหนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้า ขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504
และพระราชทานนามพระตำหนักนี้ว่า “ภูพิงคราชนิเวศน์” โดยทรงเลือกจากหนึ่งใน 2 ชื่อ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์”
พระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน มาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงานและเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่าง ๆ
การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษา จารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผัง แบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้านมีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับ ทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง
และได้ใช้พระตำหนักในการรับรองพระราชอาคันตุกะเป็นครั้งแรกคือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริต แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2505 หลังจากนั้นก็มีประมุขของประเทศต่าง ๆ เป็นพระราชอาคันตุกะ
มาประทับและพักที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในเวลาต่อมาอีกหลายประเทศ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียน่า และเจ้าชายเบอร์ฮารท์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่า แห่งประเทศเบลเยี่ยม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตัวอาคารอื่น ๆ ได้มีการก่อสร้าง เพิ่มเติมขึ้นภายหลัง
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เปิดจำหน่ายบัตรเข้าชม 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้า (08.30 – 11.30 น.) และช่วงบ่าย (13.00 – 15.30 น.) ปิดพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เวลา 16.30 น. อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม สำหรับชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
ทั้งนี้ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
สถานีวิจัยดอยปุย
สถานีวิจัยดอยปุย หรือเรียกว่า สวนสองแสน อยู่ระหว่าง วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ขึ้นไป บ้านม้งดอยปุย เป็นจุดแวะพักระหว่างทางไปบ้านม้งดอยปุย เป็นร้านกาแฟเล็กๆ รอบๆ มีสวนผลไม้ และดอกไม้สวยงาม มีวิวของเทือกเขา มีพื้นที่ 119 ไร่ 2 งาน 2.5 ตารางวา เป็นแปลงทดลอง 74 ไร่ 1 งาน 97.5 ตารางวา
สวนนี้นับเป็นสวนประวัติศาสตร์ของการเกษตรบนที่สูง คือเป็นสวนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 200,000 บาท เพื่อทรงสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาบนที่สูง
เพื่อการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัยขอองมูลนิธิโครงการหลวง ในการดำเนินการวิจัยทดลองและขยายพันธุ์พืชเขตหนาว
การเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของอุทยานฯ สามารถเดินทางได้หลายวิธี ดังนี้
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ อยู่ห่างจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ ประมาณ 3-4 กิโลเมตร รถบัสไม่สามารถเข้าถึงได้ หากท่านไม่ได้นำรถมาเอง ต้องเช่า-เหมารถจากบริเวณหน้า วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งรถจะบริการนำเที่ยวพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ยอดดอยปุย และบ้านม้งดอยปุย
บ้านม้ง ดอยปุย ห่างจาก พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ 3-4ก.ม.เป็นทางลาดยางตลอด สามารถเข้าไปเที่ยวด้วยตนเองได้ แต่เส้นทางจะคดเคี้ยวแคบ และลาดชัน ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง
ยอดดอยปุย อยู่ห่างจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ประมาณ 7 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างแคบ และลาดชัน ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ. เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ 053 210 244 โทรสาร 053 212 065 อีเมล doisuthep_pui@hotmail.com