วัดท่าตอน เป็นวัดประจำอำเภอ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตอน ต.ท่าตอน เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงาม อยู่บนไหล่เขาเรียงรายด้วยศาสนวัตถุสิ่งก่อสร้าง มีพื้นที่ทอดยาวตามไหล่เขาเป็นชั้น ๆ รวม 9 ชั้น มองเห็นได้แต่ไกลเมื่อท่านขึ้นไปบนวัดสามารถมองเห็นพื้นที่อ.แม่อายและภูเขาต่าง ๆ อย่างสวยงาม
พระธาตุท่าตอน ของเดิมไม่ทราบสมัยก่อสร้างเมื่อคราวคูบาศรีวิชัย ได้ขึ้นมาบูรณะพระธาตุสบฝาง มาถึงท่าตอน ท่านบอกให้ชาวบ้านว่าขึ้นไปค้นหาพระธาตุที่บนเขา ชาวบ้านพากันขึ้นถางป่าค้นหา
เจอพระธาตุเก่าแก่อยู่ในพุ่มไม้ นิมนต์ท่านบูรณะ แต่ท่านไม่รับ ท่านบอกให้นิมนต์ครูบาแก้ว กาวิชัย มาบูรณะ เพราะเป็นของคู่บารมีท่าน ชาวบ้านพากันนิมนต์ครูบาแก้ว มาบูรณะและสร้างวัดขึ้น เรียกชื่อว่า วัดจอมคิรี ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างวัด นิมนต์พระมาเป็นเจ้าอาวาส หลายรูป
วัดท่าตอน มีพื้นที่ของวัดกว้างขวางมาก เพราะสร้างเรียงรายกันไปตามไหล่เขา มีอยู่ด้วยกัน 9 ชั้น แต่ละชั้นก็จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อให้พุทธสานิกชนบูชา และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปเชียงแสนที่อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุสบฝางประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญของวัด และมีพระพุทธรูปที่สำคัญอีกหลายองค์
จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของวัดคือชั้นที่แปดซึ่งจะมีเจดีย์แก้ว สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ภายในเจดีย์แก้วมีด้วยกันอยู่ทั้งหมด 3 ชั้น
มีพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากทั้งในและประเทศต่างๆประดิษฐานอยู่ และในชั้นบนสุด เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุสารีริกธาตุ พระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์ สามารถขึ้นไปกราบไหว้บูชาได้ และในชั้นบนสามารถชมทิวทัศน์บริเวณโดยรอบ
ตามชั้นต่างๆ ของวัดท่าตอนมีจุดชมวิวอยู่หลายจุดโดยเฉพาะในชั้นที่ 9 หน้าองค์พระพุทธรูปพระพุทธเจ้าปางอุ้มบาตรเป็นจุดที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมากอีกจุดหนึ่งของวัดท่าตอน
ถ้ามองไปทางด้านซ้ายสุดตามลำน้ำกกจะเป็นเขตแดนของประเทศพม่า โดยเฉพาะในตอนเช้าช่วงหน้าหนาวเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามอีกจุดหนึ่งเลยทีเดียว ในบริเวณใกล้เคียงยังมีกุฏิของเจ้าอาวาสวัดท่าตอนอยู่ด้วย
การเดินทางไปเจดีย์แก้ววัดท่าตอน
จากตัวเมืองเชียงใหม่โดยเส้นทางหลวงหมายเลข 107 ผ่าน อ.แม่ริม-เชียงดาว-ไชยปราการ-ฝาง ถึงอ.แม่อาย ต.ท่าตอน ระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร
ทางเข้าวัดท่าตอนจะอยู่ ด้านซ้ายมือ มีซุ้มประตูวัดขนาดใหญ่เป็นจุดสังเกตุ ทางขึ้นเป็นถนนลาดยาง เส้นทางมีความชั้นและเลียวไปตามไหล่เขา
เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระปริยัติวิธานโกศล (สมาน จันทร์หอม) ท่านเป็นคนท่าตอนโดยกำเนิด บรรพชาเมื่ออายุ 13 ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจบนักธรรมแล้วได้ปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ทั้งในไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้หลายปี
จากนั้นได้เข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพ จบอภิธรรม,และมัธยมปลาย เมื่ออุปสมบทแล้ว วัดท่าตอนไม่มีเจ้าอาวาส ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านกลับมาตุภูมิเพื่อพัฒนาวัด ในปี 2517 ท่านได้เริ่มพัฒนาทั้งวัตถุและบุคคล จากวัดเล็ก ๆให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและได้ยกระดับเป็น พระอารามหลวง
ในปี พ.ศ. 2534 เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม เปิดศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ เปิดโรงเรียนให้ชาวเขา เปิดโรงเรียนปริยัติสามัญ(มัธยม) เป็นผู้เริ่มโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง สร้างตึกอาพาธสงฆ์โรงพยาบาลแม่อาย ฯลฯ สิ่งก่อสร้างภายในวัด 60%ท่านเป็นผู้ออกแบบเอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอแม่อาย
พระเจดีย์แก้ว หมายถึง พระเจดีย์แก้ว 3 ประการ คือ
1. แก้วสี หมายถึง จิตของคนทั่วไป ที่ยังมี รัก โลภ โกรธ หลง
2. แก้วสะท้อนเงา หมายถึง สภาพจิตของ ผู้ปฏิบัติธรรม ขัดเกลาอารมณ์ได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีเรื่องยึดเหนี่ยวทางโลก
3. แก้วใส หมายถึง สภาพจิต ที่บริสุทธิ์ ดวงจิตสามารถขจัดอารมณ์ที่ยึดติดต่าง ๆ ได้แล้วถือเป็นผู้หลุดพ้น
ยอดเจดีย์แก้ว ทำด้วยสแตนเลสมิเรอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่คงทนต่อแรงลม น้ำฝนและฝุ่นละออง คงความเป็นแก้วสีโดยใช้วิธีการ ทาสี 9 สี คือ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด สีแดง สีทอง และสีเงิน ในส่วนแก้วใส ใช้กระจกใส ตามประตูหน้าต่าง
ชั้นที่ 1 เป็นชั้นแห่งทาน
ชั้นที่ 2
ตามสะพานสายรุ้ง…บันไดมังกร บันทึกรายชื่อผู้ที่บริจาค 10,000 บาทขึ้นไป เป็นชั้นแห่งศีล จะพบกับหยดน้ำคริสตัล ซึ่งอยู่ตรงดุมล้อของธรรมจักร ส่วนภายนอก… จะเป็นลานโล่ง มีโพธิมณฑลห้อมรอบเจดีย์ ( รูปจำลอง ) ประจำปีเกิด รวมทั้งประมวลภาพการก่อสร้างพระเจดีย์แก้ว
ชั้นที่ 3 เป็นชั้นแห่งภาวนา
เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์แก้ว บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สะพานสายรุ้ง… เป็นเส้นทางทอดผ่านจากแดนมนุษย์ (โลกิยภูมิ) ขึ้นสู่แดนสวรรค์ (โลกุตรภูมิ)
เมื่อยืนมองจากวัดสามารถมองเห็นหมู่บ้านของชาวไทยขืน (บ้านแก่งยุ่ง) และหมู่บ้านชาวไทยใหญ่(บ้านน้ำยอน) บ้านท่าตอน และหมู่บ้านอื่นได้อย่างสวยงาม พร้อมทั้งเห็นความคดโค้งของสายน้ำแม่กก
พระพุทธรูปอิ่มตลอดกาล เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธ ซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (วัดปากน้ำ) ผู้สร้าง เป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ สูง 9 เมตร ประทับยืนเด่นสง่า อยู่บนยอดเขาลูกสุดท้ายของวัดท่าตอน
พระพุทธนิรันดรชัย เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หน้าตักกว้างเก้าเมตร สีขาวนวล ศิลปะแบบพระสิงค์ ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐปูน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 นำโดยเจ้าอาวาสและคุณประยูร พงศ์ตันกูล
พระนาคปรก เป็นพระก่อด้วยอิฐปูน หน้าตักกว้าง 7 เมตรกว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 ใต้ฐานเป็นห้องโถงเป็นที่ปฏิบัติกรรมฐานภาวนา
พระสังกัจจายน์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 รูปปูนปั้นศิลปะแบบจีน ยืนอยู่บนถ้ำ มีน้ำพุอยู่ข้าง อยู่ตรงทางโค้งประดุจจะคอยต้อนรับผู้มาเยือนวัด
เจ้าแม่กวนอิม ยืนประทานน้ำ ให้ผู้เลื่อมในศรัทธากราบไหว้ มีลานให้เดินชมธรรมชาติ ฐานล่างสองชั้นมีห้องให้พัก และให้นั่งชมบรรยากาศ ชั้นล่างสุดทำเป็นบันไดลงไปแม่น้ำ มีรูปปั้นเทพเจ้าต่าง ๆ และศาลาที่พัก มีถ้ำให้ลอดลงไป
แสดงแผนที่ตั้งของวัดท่าตอนภูมิประเทศของวัดท่าตอนประกอบไปด้วยภูเขา 9 ลูกและยอดเขาที่เป็นจุดศูนย์กลางของวัดท่าตอน จะเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์
สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้แสวงบุญ ที่มาเป็นหมู่คณะ หรือต้องการให้ทางวัดจัดเตรียมที่พัก หรืออาหารไว้ให้ ติดต่อสอบถามได้
ที่ตั้ง
วัดท่าตอน ที่อยู่ : ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 50280
โทร. 053 459 309